Bangpakok Hospital

ออฟฟิศซินโดรม ปัญหากวนใจของวัยทำงาน



       ออฟฟิศซินโดรม ถือเป็นปัญหาที่กวนใจวัยทำงานของใครหลาย ๆ คน ซึ่งมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ โดยไม่ได้เปลี่ยนอิริยาบถ ซึ่งเป็นการใช้กล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำ ๆ ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานาน จนส่งผลทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้ออักเสบตามร่างกายในบริเวณต่าง ๆ โดยเฉพาะบริเวณคอ หลัง บ่า ไหล่ แขน หรือแม้แต่ข้อต่ออย่างข้อมือ ข้อศอก เข่า ถือเป็นหนึ่งสัญญาณของการเป็นออฟฟิศซินโดรม นอกจากนี้ปัจจัยทางอื่น ๆ มีผลต่อการเป็นออฟฟิศซินโดรม อาทิเช่น ความเครียดจากการทำงาน การพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือการได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน เป็นต้น ในช่วงแรกอาการที่แสดงออกมาอาจเป็นอาการเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่หากปล่อยทิ้งไว้นานโดยไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอาจส่งผลให้อาการลุกลามจนเป็นอาการปวดเรื้อรังได้

อาการออฟฟิศซินโดรม

  1. ปวดกล้ามเนื้อตามคอ บ่า ไหล่ แขน และหลัง
  2. อาการทางระบบประสาทถูกกดทับ เช่น ชาบริเวณแขนและปลายนิ้วมือ อาการอ่อนแรงหากมีการกดทับเส้นประสาทนานเกินไป
  3. ปวดข้อมือ นิ้วล็อค
  4. ปวดศีรษะเรื้อรังหรือปวดไมเกรน
  5. อาการตาแห้ง ปวดตา

ใครที่มีความเสี่ยงเป็นออฟฟิศซินโดรม

ออฟฟิศซินโดรมถือเป็นกลุ่มอาการที่ส่วนใหญ่จะพบในบุคคลวัยทำงาน แต่จริง ๆ โรคออฟฟิศซินโดรมสามารถเกิดได้กับคนหลายกลุ่ม เช่น

  1. ผู้ที่อายุ 20 ปีขึ้นไป ที่เริ่มใช้คอมพิวเตอร์ในการศึกษา
  2. ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมเดิม ๆ ซ้ำ ๆ เช่น พนักงานต้อนรับ คนขายกาแฟ หรือพนังงานขับรถ เป็นต้น
  3. ผู้สูงอายุที่หันมาใช้โทรศัพท์หรือแล็ปท็อปมากขึ้น
  4. นักกีฬาหรือผู้ที่ต้องเล่นกีฬาเป็นประจำ
  5. ผู้ที่มีความเครียดจากปัญหาต่าง ๆ

วิธีรักษา

       การรักษาออฟฟิศซินโดรมมีหลายวิธี โดยสามารถเริ่มได้จากตัวเรา ด้วยการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสม ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการทำงานด้วยการเปลี่ยนท่าหรืออิริยาบถในทุก ๆ 2 ชั่วโมง รวมถึงออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ วิธีเหล่านี้จะช่วยให้ลดอาการบาดเจ็บจากการทำงานและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้ดีขึ้น

       นอกจากวิธีการรักษาข้างต้น ทางสถาบันสุขภาพและความงามตรัยญามีแพทย์ผู้ชำนาญการที่สามารถให้คำปรึกษา ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และดูแลการรักษาได้อย่างถูกต้อง ซึ่งมีหลายวิธีให้เลือกเพื่อจะได้เหมาะสมกับแต่บุคคล

  • การฝังเข็ม โดยการใช้จุดฝังเข็มทั้งจุดใกล้และจุดไกลเพื่อปรับสมดุล ซึ่งมีการวิเคราะห์โรคแบบจีน ด้วยการแมะชีพจรและตรวจดูลิ้น โดยอาจใช้ไฟฟ้ากระตุ้นเพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือดและอาการปวด
  • การรักษาด้วยการครอบแก้ว โดยการจุดไฟแล้วนำเปลวไฟเข้าในแก้ววงกลม เพื่อให้เกิดสุญญากาศภายในแก้ว ทำให้เกิดการไหลเวียนเลือดในบริเวณนั้น จึงทำให้หลอดเลือดเกิดการผ่อนขยายตัว ทำให้เนื้อเยื่อได้รับออกซิเจนมากขึ้น อีกทั้ง การครอบแก้วพร้อมกับการเดินแก้ว จะเป็นการยืดกล้ามเนื้อและพังผืดที่ระดับผิว ซึ่งจะช่วยลดอาการอักเสบและสลายบวม สลายตะคริวกล้ามเนื้อ ระงับอาการเจ็บปวดจากกลุ่มโรคกล้ามเนื้อได้โดยตรงและยังสามารถกระตุ้นประสาท รวมถึงระงับต้นเหตุของการเจ็บปวดได้อีกด้วย
  • การกดจุดรักษาอาการ เพื่อคลายกล้ามเนื้อชั้นลึกที่เป็นสาเหตุหลักของอาการปวดคอ หลัง บ่าและไหล่ ร่วมกับหัตถการประคบสมุนไพร เพื่อลดอาการอักเสบและบรรเทาอาการปวดจากการกดจุดรักษาปวดคอและปวดหลัง

ป้องกันตัวเองก่อนเป็นออฟฟิศซินโดรม

       หากอยากป้องกันตัวเองก่อนที่จะเป็นโรคออฟฟิศซินโดรม มีวิธีป้องกันอาการเจ็บปวดได้ง่ายด้วยตนเอง ดังนี้

  1. เปลี่ยนสภาพแวดล้อมในการทำงานและท่าทางทุก ๆ 2 ชั่วโมง เช่น การลุกเดิน เพื่อให้ร่างกายได้พัก
  2. ทำกายบริหารระหว่างการทำงานด้วยอุปกรณ์ใกล้ตัว เช่น ขวดน้ำ เป็นต้น
  3. การออกกำลังกายให้กล้ามเนื้อแข็งแรง โดยเน้นการออกกำลังที่สามารถเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อได้ทุกส่วน เช่น คาร์ดิโอ แบบเสริมสร้างกล้ามเนื้อ แบบยืดเหยียด เป็นต้น
  4. การใช้อุปกรณ์พยุงที่ได้รับการปรึกษาจากแพทย์ผู้ชำนาญการ เพื่อป้องกันการไม่ให้เกิดการบาดเจ็บเพิ่มเติม
  5. ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เพื่อคลายกล้ามเนื้อระหว่างการทำงาน

 

โดย พท.ป. ญาดานุช ภิรมย์ฤทธิ์
Integrative Medicine Center : Traditional Thai Medicine

โดย พจ. อาภัสร สัณฐิติเจริญวงศ์
Integrative Medicine Center : Traditional Chinese Medicine
Go to top