Bangpakok Hospital

ภัยเงียบ! สารโลหะหนักในร่างกาย

สารโลหะหนักแฝงอยู่ในอาหาร อากาศ น้ำ โดยมนุษย์รับโลหะหนักเข้าสู่ร่างกายทางน้ำ พืชน้ำ เช่น สาหร่ายรวมถึงสัตว์น้ำ จากการกินตามห่วงโซ่อาหาร ซึ่งสารโลหะหนักอันตรายที่ปนเปื้อนอยู่ในชีวิตประจำวันที่พบบ่อย ได้แก่ ดีบุก สังกะสี ทองแดง ตะกั่ว สารหนู ปรอท มีอัตราการสลายตัวค่อนข้างช้า ทำให้สะสมอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นาน โดยโลหะหนักสามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายรูปแบบ ดังนี้

  1. การรับประทานโดยเฉพาะปลาที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีระดับสารปรอทสูง หรือยาสมุนไพรที่มีส่วนผสมของโลหะหนัก รวมถึงการดื่มน้ำที่ปนเปื้อนสารพิษ
  2. การสูดดมผงฝุ่นที่มีส่วนผสมของโลหะหนักบางชนิดหรือควันจากบุหรี่
  3. การสัมผัสและการดูดซึมผ่านทางผิวหนังจากการทำงานในโรงงานที่ใช้โลหะหนักเป็นวัตถุดิบ หรือเครื่องสำอางบางประเภทที่มีส่วนผสมของโลหะหนัก
      

    อาการของผู้ได้รับสารโลหะหนักสะสมในร่างกาย

    แม้ว่าสารโลหะหนักที่สะสมในร่างกายมีปริมาณเล็กน้อย หรือระดับไม่ก่อให้เกิดพิษ แต่ยังสามารถส่งผลเสียต่อร่างกาย โดยสารโลหะหนักจะเข้าไปรบกวนการทำงานของแร่ธาตุในร่างกาย นอกจากนั้นสารโลหะหนักยังเป็นอันตรายต่อผนังเซลล์ทำให้ประจุไฟฟ้าเสียสมดุล จึงทำให้ผนังเซลล์ถูกทำลาย ก่อให้เกิดความผิดปกติต่อการแบ่งตัวของเซลล์ นอกจากนั้นสารโลหะหนักยังเป็นตัวการที่ทำให้เกิดอนุมูลอิสระ ทำให้หลอดเลือดอักเสบ ผนังหลอดเลือดขรุขระ ส่งผลให้หลอดเลือดแข็ง เกิดลิ่มเลือดอุดตัน ขาดความยืดหยุ่นและหดตัว กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเส้นเลือดตีบตัน และทำให้ความสามารถในการนำสารอาหารไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายขาดประสิทธิภาพ ส่งผลให้เกิดความเสื่อมสภาพของอวัยวะในร่างกายอย่างต่อเนื่อง เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ความเครียด ความคิด ความจำ โรคซึมเศร้า โรคที่มีความเกี่ยวข้องกับกระดูกพรุน ภาวะฮอร์โมนต่ำ ซึ่งพิษของสารโลหะหนักจะขึ้นอยู่กับรูปแบบทางเคมีของสารประกอบโลหะหนักแต่ละชนิด และเส้นทางที่ร่างกายได้รับเข้าไป เช่น ระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร หรือผิวหนัง เป็นต้น โดยสารพิษเหล่านี้จะสะสมอยู่ในร่างกายจนถึงระดับหนึ่งจึงจะแสดงอาการออกมาให้เห็น ซึ่งโลหะหนักที่สะสมอยู่ในร่างกายในปริมาณมากและสะสมอยู่เป็นเวลานานอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ และเป็นประตูไปสู่โรคร้ายแรงได้ อาการโดยทั่วไปจากการได้รับโลหะหนัก ได้แก่ ท้องเสีย คลื่นไส้ ปวดท้อง อาเจียน หายใจไม่อิ่ม รู้สึกเหมือนมีเข็มทิ่มตามมือหรือเท้า รวมถึงมีอาการสั่น และอ่อนแรง


เราจะรู้ได้อย่างไรว่าร่างกายเรามีการสะสมของสารโลหะหนัก ?

เบื้องต้นแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจปัสสาวะหรือตรวจเลือด เพื่อทดสอบว่ามีภาวะพิษจากโลหะหนักหรือไม่ หากตรวจพบภาวะดังกล่าวก็จะเข้าสู่ขั้นตอนแรกของการรักษา โดยการจำกัดการได้รับโลหะหนัก


วิธีรักษาภาวะพิษจากโลหะหนัก

การทำคีเลชั่นบำบัด (Chelation therapy) คือรูปแบบหนึ่งของการกำจัดสารพิษโลหะหนัก ที่แพทย์นำมาใช้ในการดูดซับสิ่งต่าง ๆ ในกระเพาะอาหารออกเพื่อกำจัดโลหะที่ผู้ป่วยกลืนเข้าไป โดยการใช้ อีกทั้งยังมีการวัดความดันภายในกระโหลกศีรษะเพื่อตรวจอาการบวมของสมอง รวมถึงการฟอกเลือด และการรักษาในกรณีที่เกิดไตวายร่วมด้วยการรักษาแบบประคับประคองเพื่อตรวจสอบและรักษาผลที่ตามมาหลังอวัยวะต่าง ๆ ทำงานผิดปกติ เป็นต้น  


โดย พญ.สุวรรณี ศิริวิมลานันท์ 
แพทย์เวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ
Wellness & Anti Aging Center

Go to top